Cell broadcast ลงเว็บ

เชียงใหม่เตรียมทดสอบระบบเตือนภัยฉุกเฉินผ่านมือถือ 13 พ.ค. ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ

       รู้ไว้ก่อน !!! ... เชียงใหม่ เตรียมพร้อมรับการทดสอบระบบเตือนภัยพิบัติฉุกเฉินผ่านมือถือ (Cell Broadcast) ระดับใหญ่ ครอบคลุมทั้ง 25 อำเภอ วันที่ 13 พฤษภาคม นี้ เวลา 13.00 น.มือถือดังไม่หยุด อย่าตกใจ!!!
       การทดสอบระบบ Cell Broadcast เป็นความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเมื่อต้องเผชิญกับภัยพิบัติฉุกเฉิน โดยเฉพาะจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เพื่อหาข้อจำกัดต่าง ๆ นำมาวิเคราะห์ถอดบทเรียน พัฒนา และปรับปรุงแก้ไขระบบให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น และพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินขึ้นจริง ซึ่งจะแบ่งการทดสอบออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับใหญ่ โดยในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ ได้ถูกกำหนดให้ทำการทดสอบระบบเตือนภัยระดับใหญ่ ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ รวมไปถึงพื้นที่รอบข้าง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่จะถึงนี้ ในเวลา 13.00 น.
       เมื่อได้ข้อความแจ้งเตือนภัย (Cell Broadcast) โทรศัพท์เคลื่อนที่จะดังและสั่นเป็นระยะ ๆ 8 วินาที
โปรดอย่าตื่นตระหนก ตกใจ
       สำหรับรูปแบบของการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่านระบบ Cell Broadcast จะมีข้อความ Pop-up ปรากฏขึ้นบนหน้าจอสมาร์ทโฟนที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบ พร้อมกับมีเสียงดังและสั่นเตือนเป็นระยะ ๆ นานประมาณ 8 วินาที ทั้งที่เป็นระบบ ios และ Android ในโทรศัพท์ทุกเครื่องที่รองรับได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนอย่าตกใจเมื่อได้รับสัญญาณเตือนในครั้งนี้ โดยโทรศัพท์มือถือที่จะรับการแจ้งเตือนนี้ได้จะต้องเปิดเครื่องอยู่และเชื่อมต่อสัญญาณเครือข่าย 4G/5G พร้อมทั้งอัปเดตซอฟต์แวร์ให้เป็นเวอร์ชั่นปัจจุบัน คือ Android เวอร์ชั่น 11 ขึ้นไป หรือ ios เวอร์ชั่น 18 ขึ้นไป ส่วนโทรศัพท์มือถือที่ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นต่ำกว่านี้ , ปิดเครื่อง , เปิดโหมดเครื่องบิน หรือโทรศัพท์รุ่นเก่าที่เชื่อมต่อสัญญาณเครือข่าย 2G/3G จะไม่ได้รับสัญญาณเตือน แต่จะได้รับเป็นข้อความแจ้งเตือนทาง SMS แทน
       เพื่อให้การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast)เป็นไปด้วย ความเรียบร้อย จึงขอประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้การทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณ ให้แก่บุคลากร ผู้ใช้บริการ นักศึกษา เพื่อป้องกันการตื่นตระหนก โดยเน้นหนักไปที่สถานที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และกลุ่มเปราะบางที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการทดสอบ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคหัวใจ เป็นต้น
       ในช่วงแบบนี้มักจะมีมิจฉาชีพฉวยโอกาสสร้างข้อความ SMS ปลอมขึ้นมา ซึ่งนำไปสู่การฉ้อโกง ดังนั้น จึงฝากเตือนประชาชนว่า ข้อความจริงที่ส่งไปใน SMS นั้น จะไม่มีลิงค์แนบตามไปแต่อย่างใด ถ้าหากมีลิงค์แนบมาในข้อความ ห้ามกดเด็ดขาด

Tags: No tags

Comments are closed.